เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั้งของไทยและของโลกต่างค่อย ๆ ซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจใหญ่ ๆ หลายแห่งปิดตัวไปอย่างน่าประหลาดใจ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ผกผันอย่างไม่สามารถคาดคะเนได้ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงหายนะทางเศรษฐกิจที่กำลังใกล้เข้ามา แต่ไม่น่าเชื่อว่าในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กลับมีธุรกิจประเภทหนึ่งที่อัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องทุกปี นั่นคือ “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี” ด้วยปัจจัยหลาย ๆ ด้าน อาทิ การเปลี่ยนแปลงยุคสมัยจากยุคอุตสาหกรรมเป็นยุคเทคโนโลยี สภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่ที่ทั้งการจราจรติดขัด ความแออัดเบียดเสียด การแข่งขันที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกโอกาส จึงไม่แปลกที่ไลฟ์สไตล์ของผู้คนจะเปลี่ยนไป ไม่อยากออกจากบ้าน หรือที่ทำงาน เพื่อไปวนหาร้านอาหารที่ก็เต็มไปด้วยฝูงชนที่นั่งรอรับประทานอาหารเช่นกันอยู่เต็มเกือบทุกร้าน

อัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจอาหารเดลิเวอรี

มีข้อมูลเปิดเผยจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า ในช่วงที่ผ่านมา (ประมาณปี ค.ศ.  2014 – 2018) อัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจอาหารเดลิเวอรีนั้น เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10 % ซึ่งเติบโตมากกว่าธุรกิจร้านอาหารที่มีอัตราเจริญเติบโตต่อปีเพียง 3 – 4 %  และในปี 2019 คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 14% โดยสาเหตุจากหลาย ๆ องค์ประกอบ ทั้งด้านโครงสร้างประชากรต่อครัวเรือนที่ปัจจุบันเน้นการสร้างครอบครัวขนาดเล็ก ที่ทำให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตครอบครัวเป็นแบบง่าย ๆ กินอยู่ง่าย ๆ ไม่หวือหวา หรือด้านพฤติกรรมของมนุษย์ยุคไอทีที่เน้นการทำกิจกรรมบนพื้นฐานความสะดวกสบายรวดเร็ว และประหยัดเวลา โดยร้อยละ 80 จะมาจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะผ่านทางคอมพิวเตอร์หรือ
แอปพลิเคชัน ที่แต่ละบริษัทพากันทยอยสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ออกมาอย่างไม่ขาดสาย เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้ดี ง่าย และถูกใจมากที่สุด

การแข่งขันธุรกิจอาหารเดลิเวอรีในยุคดิจิตอล

                ธุรกิจอาหารเดลิเวอรีเป็นผลพวงมาจากก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล จากที่เมื่อก่อนอาหาร
เดลิเวอรีสามารถสั่งได้เพียงช่องทางเดียว คือการโทรศัพท์ไปยังร้านค้าที่มีบริการเดลิเวอรี ซึ่งก็มีร้านค้าให้บริการน้อยมาก และจะมีเพียงร้านอาหารชื่อดัง หรือร้านอาหารแฟรนไชส์จากต่างประเทศตามห้างเท่านั้น แต่พอมาถึงตอนนี้ที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป ร้านเล็ก ๆ สามารถยิ่งใหญ่บนโลกออนไลน์ในมือถือเล็ก ๆ ของทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านสตรีทฟู้ดข้างทาง หรือผู้ที่อยากมีรายได้เสริมโดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน แค่ทำและเตรียมอาหารอยู่ที่บ้านตัวเอง ก็สามารถเป็นร้านค้าที่ให้บริการเดลิเวอรีได้ นั่นทำให้ตลาดธุรกิจอาหารออนไลน์นี้เปิดกว้าง มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง และมีคู่แข่งที่หลากหลาย การเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหันมาทำการตลาดช่องทางนี้เยอะขึ้น ดังนั้นแต่ละร้านจึงต้องหา
กลยุทธ์การตลาดที่จะมัดใจให้ลูกค้าเลือกและกลับมาซื้ออาหารที่ร้านซ้ำ ๆ อีก

                แต่ไม่ว่าอย่างไร การที่เจ้าของธุรกิจอาหารเดลิเวอรีออกมาสาดอาวุธทางธุรกิจใส่กัน และคิดแผนกลยุทธ์เพื่อดึงลูกค้าให้ใช้บริการบริษัทตนมากที่สุดนั้น ย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างเราแน่นอน เพราะธุรกิจบริการจะเกิดผลสำเร็จที่ดีได้นั้น ประเด็นสำคัญต้องมาจากความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ นั่นหมายถึง เราในฐานะผู้บริโภคจะได้ใช้งานเว็บไซต์หรือ
แอปพลิเคชันจากผู้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการคืนกำไรให้ลูกค้ามากขึ้น มีมาตรฐานการส่งอาหารที่ถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น มีโปรโมชั่นให้เลือกเยอะขึ้น ถือเป็นการสร้าง Win-Win Situation ให้กับทั้งสองฝ่าย ร้านได้ลูกค้า – ลูกค้าได้อาหารตามที่ต้องการโดยไม่ต้องเสียเวลาไปเผชิญปัญหารถติดบนท้องถนน